เรียบเรียงโดย ... ทีมงานเว็บไซต์กองอุตุนิยมวิทยาการบิน

เครื่องเรดาร์ที่ใช้ในกิจการของกรมอุตุึนิยมวิทยาในปัจจุบันมีกี่ชนิด

     กรมอุตุนิยมวิทยาได้จัดหาเครื่องเรดาร์ที่ทันสมัยเรียกว่า ดอปเปลอร์เรดาร์ไว้ใช้ในราชการของกรมฯตามความเหมาะสม
ของจุดประสงค์ในการใช้ 3 ชนิดด้วยกัน ซึ่งจะเรียกเรดาร์ทั้ง 3 ชนิดนี้ว่า เรดาร์ตรวจอากาศ

1. เรดาร์ตรวจอากาศ X-band เป็นเรดาร์ขนาดเล็ก เหมาะสำหรับใช้ตรวจวัดฝนกำลังอ่อนถึงกำลังปานกลาง
รัศมีทำการ100 กม. และรัศมีหวังผล 60 กม. เนื่อง จากเป็นเรดาร์ขนาดเล็ก มีความยาวคลื่นสั้น เมื่อกระทบเป้าจะมีการสูญเสีย
พลังงานเนื่องจากเป้ามากทำให้เป้าของฝนที่ตรวจได้จากจอเรดาร์มีขนาดและรูปร่าง ผิดจากความเป็นจริงไปมาก

2. เรดาร์ตรวจอากาศ C-band เป็นเรดาร์ขนาดปานกลาง เหมาะสำหรับใช้ตรวจวัดฝนกำลังปานกลางถึงกำลังแรง
รัศมีทำการ 450 กม. และรัศมีหวังผล 230 กม. เนื่องจากเป็นเรดาร์ขนาดปานกลางเมื่อกระทบเป้าจะมีการสูญเสียพลังงาน
เนื่องจากเป้าบ้างพอสมควร ทำให้เป้าของฝนที่ตรวจได้จากจอเรดาร์มีขนาดและรูปร่างผิดจากความเป็นจริงไปบ้าง
มีราคาแพงกว่าและค่าบำรุงรักษามากกว่าเรดาร์ X-band

3. เรดาร์ตรวจอากาศ S-band เป็นเรดาร์ขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับใช้ตรวจวัดฝนกำลังแรงถึงกำลังแรงมาก รัศมีทำการ 550 กม.
และรัศมีหวังผล 230 กม. เนื่องจากเป็นเรดาร์ขนาดใหญ่เมื่อกระทบเป้าจะไม่มีการสูญเสียพลังงานเนื่องจากเป้าเลย ทำให้เป้า
ของฝนที่ตรวจได้จากจอเรดาร์มีขนาดและรูปร่างผิดจากความเป็น จริงน้อยมากหรือไม่ผิดเลย เป็นเรดาร์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
มีราคาแพงกว่า และค่าบำรุงรักษามากกว่าเรดาร์ C-band และ X-band




เรดาร์ตรวจอากาศดอปเปลอร์กองอุตุนิยมวิทยาขนส่ง




ประโยชน์ของเรดาร์ตรวจอากาศมีอะไรบ้าง

     เรดาร์มีประโยชน์มากในกิจการอุตุนิยมวิทยาเพราะเรดาร์สามารถตรวจจับและรายงานผลการตรวจในขณะที่ปรากฎการณ์ต่างๆ
กำัลังเกิดขึ้นจริง (Real Time Observation) ในบริเวณที่ห่างออกไปจากสถานีเรดาร์หลายร้อยกิโลเมตร ซึ่งไม่สามารถ
มองเห็นได้ด้วยสายตาปกติและด้วยการนำเอาวิทยาการอันทันสมัยของคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้กับเครื่องเรดาร์
ก็ยิ่งทำให้เพิ่มความรวดเร็วในการทำงานของเรดาร์ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามสามารถจำแนกประโยชน์ของเรดาร์ได้ดังนี้

1. ใช้ตรวจจับหาบริเวณที่มีฝนหรือฝนฟ้าคะนอง รวมทั้งรายงานความแรงทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝนนั้นๆด้วย
2. ใช้ตรวจและติดตามการเคลื่อนตัว รวมทั้งหาศูนย์กลางของพายุหมุน เช่น พายุโซนร้อน พายุไต้ฝุ่น เป็นต้น
3. ใช้ตรวจหิมะ ลูกเห็บ เมฆ
4. ช่วยในการพยากรณ์อากาศระยะสั้น
5. ใช้วิเคราะห์ทิศทางและความเร็วลมชั้นบนในระดับต่างๆ
6. ช่วยในการเตือนภัยและเตรียมการป้องกันน้ำท่วม